หากคุณกำลังวางแผนอยากเปิดบริษัท นอกจากเรื่องวางแผนการลงทุนธุรกิจแล้ว สิ่งสำคัญที่คุณจำเป็นต้องวางแผนหลังจากนั้นคือเรื่อง “การจดทะเบียนบริษัท” ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกที่ดี และคุ้มค่าสำหรับคนที่อยู่ในฐานะผู้ประกอบการ เพราะการจดทะเบียนบริษัทมีข้อดีหลายด้าน และที่สำคัญยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทของคุณได้อีกด้วย ในปัจจุบันได้มีการจดทะเบียนบริษัทรูปแบบออนไลน์ หรือ e-Registration เกิดขึ้น จึงทำให้มีความสะดวก และประหยัดกว่าการจดทะเบียนในรูปแบบกระดาษ ซึ่งถ้าหากคุณอยากรู้ว่า จดทะเบียนบริษัทออนไลน์ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? ทาง นรินทร์ทอง ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ วิธีการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ เอาไว้ในบทความนี้ พร้อมอธิบายถึงขั้นตอนการจดทะเบียน ให้คุณได้เข้าใจแบบจับมือทำ
วิธีการ จดทะเบียนบริษัทออนไลน์
การจดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์ จะทำให้คุณสามารถดำเนินการได้เอง ซึ่งสามารถทำผ่านทางเว็บไซต์ DBD e-Registeration ของทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- การลงทะเบียนผู้ใช้งาน
- วิธียืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)
- ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท
- การชำระค่าธรรมเนียม
การลงทะเบียนผู้ใช้งาน
ก่อนที่จะเริ่มทำการจดทะเบียนบริษัท คุณต้องลงทะเบียนผ่านหน้าเว็บไซต์ได้ที่ https://ereg.dbd.go.th หลังจากนั้นให้คลิกไปยัง ‘ลงทะเบียนผู้ใช้งานระบบ’ เพื่อทำการบันทึกข้อมูลผู้ใช้งานและยืนยันตัวตน ในการขอรับชื่อผู้ใช้กับรหัสผ่าน
- ข้อตกลงและเงื่อนไข ถือว่าเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างคุณกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่คุณควรจะรู้ก่อนทำการยอมรับ หากยอมรับให้เลือกในช่องและดำเนินการต่อ
- เลือกรายการ เป็นวิธีการให้คุณเลือกประเภทของการลงทะเบียนกับการยืนยันตัวตน โดยคลิกที่ ‘ลงทะเบียนเป็นผู้ใช้งานทั่วไป’ และ ‘ยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)’ ซึ่งต้องทำการยืนยันผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อความสะดวกในการถ่ายภาพ และผู้ลงทะเบียนต้องเป็นสัญชาติไทยเท่านั้น
- บันทึกข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน การกรอกข้อมูลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้อมูลบุคคล และ ข้อมูลการติดต่อ ถ้าหัวข้อไหนมีดอกจันสีแดงต้องใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน แต่ถ้าเป็นดอกจันสีน้ำเงินต้องเลือกกรอกข้อมูลช่องใดช่องหนึ่ง
- ยืนยันการส่งข้อมูล หลังจากที่คุณกรอกข้อมูลทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงให้คุณได้ตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนที่จะทำการยืนยันส่งข้อมูล เพราะถ้ามีข้อมูลตรงส่วนไหนผิดพลาดก็สามารถแก้ไขได้
การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)
หลังจากที่คุณได้ทำการยืนยัน เพื่อบันทึกข้อมูลของผู้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว บนเว็บไซต์จะแสดงให้คุณได้ทราบว่า การลงทะเบียนผู้ใช้งานเสร็จสิ้น พร้อมกับแจ้งเลขที่ใบสมัคร โดยคุณสามารถเลือกได้ว่าจะกลับเข้าสู่หน้าหลักแล้วค่อยมาทำการยืนยันตัวตนทีหลัง หรือทำการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อเลย
ก่อนที่จะทำ การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน และอุปกรณ์ที่สามารถถ่ายภาพได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ กล้องเว็บแคม เป็นต้น
- ขั้นตอนแรก การถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนด้านหน้า โดยที่บัตรจะต้องอยู่ในกรอบสีเหลือง หากรู้สึกว่าภาพไม่มีความคมชัดสามารถถ่ายใหม่ได้
- ขั้นตอนที่ 2 ถ่ายรูปใบหน้าของตัวเอง และเราต้องอยู่ภายในกรอบสีเหลือง เพราะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถเห็นใบหน้าได้อย่างชัดเจน
- ขั้นตอนที่ 3 เป็นการถ่ายวิดีโอใบหน้าของตัวเอง ตอนที่ทำการกดบันทึก บนเว็บไซต์จะขึ้นข้อความที่เราต้องพูด ในตอนที่กำลังถ่ายวิดีโออยู่
- ขั้นตอนสุดท้าย จะให้คุณทำการตรวจสอบรูปกับวิดีโอ ที่เราได้ทำการถ่ายจากบัตรประชาชน และใบหน้าของตัวเอง ก่อนทำการส่งเอกสารเพื่อยืนยัน
หากเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลและตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ระบบจะส่งอีเมลเพื่อแจ้งให้คุณได้ทราบว่าสามารถเข้าสู่ระบบได้ โดยต้องทำการ Activate User ก่อน จึงจะเข้าสู่ระบบได้ตามปกติ (ควร Activate User ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน)
>>>คลิกเพื่อดูวิดีโอ การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ได้ที่นี่<<<
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดบริษัทออนไลน์
ผู้ประกอบการที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทพร้อมกับการทำหนังสือบริคณห์สนธิ โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทย และมีทุนขอจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีเอกสารที่คุณต้องเตรียมดังนี้
- คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (แบบ บอจ.1)
- แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
- หนังสือบริคณห์สนธิ (แบบ บอจ.2)
- รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (แบบ บอจ.3)
- รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.)
- รายละเอียดวัตถุประสงค์ของบริษัท (แบบ ว.)
- บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)
- สำเนาหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท
- สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
- สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้น
- หลักฐานการนำเงินฝากที่มีธนาคารรับรอง (กรณีที่กรรมการเป็นผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ)
- รายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ (แบบ สสช.1)
- แผนที่ตั้งของสำนักงานใหญ่
- สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการทุกคน
>สามารถดูเอกสารการจดทะเบียนจัดตั้ง เพิ่มเติมได้ที่นี่<<<
ขั้นตอนการจดบริษัทออนไลน์
ในกรณีที่คุณเป็นเจ้าของธุรกิจหรือกิจการ ที่ต้องทำการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ด้วยตัวเอง จะต้องเข้าสู่ระบบก่อน จึงจะสามารถคลิกไปยัง ‘จดทะเบียนนิติบุคคล’ ได้ ในส่วนต่อมาคุณเลือก ‘สร้างคำขอการจดทะเบียนนิติบุคคล’ และ ‘ผู้เริ่มก่อการ/กรรมการ/หุ้นส่วน/ผู้ชำระบัญชี’ หลังจากนั้นบนเว็บไซต์ก็จะแสดงให้คุณเลือก ว่าต้องการจดในนามห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือบริษัทจำกัด
ในกรณีที่คุณเลือกจดทะเบียนในนามของบริษัทจำกัด ให้คลิกที่ ‘บริษัทจำกัด : หนังสือบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัทพร้อมกัน (ภายในวันเดียว)’ หากระบบจะขึ้นคำถามที่เกี่ยวกับบริษัทของเรา ถ้าต้องการตอบว่า “ใช่” ในช่องสี่เหลี่ยม
สำหรับการกรอกชื่อนิติบุคคลจะมีให้ใส่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยในระบบจะมีการแสดงให้เห็นถึงข้อตกลง ที่คุณควรจะอ่านก่อนทำการยอมรับแล้วคลิกหน้าถัดไป ก็จะเข้าสู่หน้า คำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวันที่จัดประชุม โดยต้องการทำกรอก ‘วันที่, เวลา, สถานที่ประชุม และชื่อของผู้เป็นประธานในที่ประชุม’
รายงานการประชุมตั้งบริษัทให้คุณเลือก ‘รูปแบบสำเร็จรูป’ ในส่วนที่เหลือจะเป็นการกรอก เพื่อระบุค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทเป็นจำนวนกี่บาท, ผู้สอบบัญชีกับการกำหนดสินจ้าง จะได้เป็นการส่งงบการเงินให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเวลาปิดประชุม
หน้าถัดมาเป็นแบบ บอจ.2 หรือ หนังสือบริคณห์สนธิ จะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผู้เริ่มก่อตั้งบริษัท ที่ได้มีการลงชื่อร่วมกัน โดยคุณต้องทำการกรอกข้อมูลดังนี้
- ชื่อบริษัท ข้อมูลที่คุณได้กรอกไปก่อนหน้านี้จะขึ้นให้คุณเห็นอีกครั้ง และสามารถเปลี่ยนได้เฉพาะคำแสดงนิติฐานะเท่านั้น
- สำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจะตั้งอยู่ ณ ให้ใส่ข้อมูลที่อยู่ของสำนักงานใหญ่
- ความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น กรณีที่บริษัทมีปัญหาถึงจุดที่ถูกฟ้อง ผู้ถือหุ้นจะต้องรับผิดชอบตามจำนวนมูลค่าของหุ้น แต่ถ้ากรรมการรับผิดแบบไม่จำกัดจำนวนก็ให้ระบุ “…………”
- ทุนบริษัท ให้ใส่จำนวนทุนที่จะนำไปจดทะเบียน และต้องการให้มีจำนวนทั้งหมดกี่หุ้น ทางระบบก็จะคำนวณมูลค่าให้อัตโนมัติ
ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ ลายมือ และจำนวนหุ้น เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการมากกว่า 3 คนขึ้นไป พร้อมกับระบุจำนวนหุ้นที่ถือ (ผู้ก่อการทุกคนจะต้องลงทะเบียนและยืนยันตัวตนให้เรียบร้อยก่อน)
หลังจากที่ได้ทำการกรอกรายละเอียดสำหรับหนังสือบริคณห์สนธิเรียบร้อยแล้ว ต่อมาให้คุณกรอกข้อมูลลงในแบบ บอจ.3 เป็นรายการจดทะเบียนจัดตั้ง ในช่วงแรกของแบบให้อิงข้อมูลเดิม ไม่ต้องทำการปรับ แต่ใน ‘ข้อ 3. จำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วแต่ละหุ้น (เฉพาะหุ้นที่ลงเงิน) คือ’ เป็นส่วนที่คุณต้องกรอกเพื่อชำระเงิน โดยตามกฎหมายขั้นต่ำของการชำระจะอยู่ที่ 25% และ ข้อ 7. บริษัทนี้ตั้งขึ้นโดย ให้เลือก ‘ไม่มีกำหนดอายุ’
การกรอกรายละเอียดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ต้องใส่ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในช่องของเลขรหัสประจำบ้าน คือ เลขที่อยู่ในสมุดทะเบียนบ้าน ส่วนการเพิ่มที่ตั้งสำนักงานสาขา ถ้าคุณไม่ได้มีสาขาย่อยก็สามารถข้ามการใส่ข้อมูลตรงนี้ได้
ข้อ 11. บริษัทนี้ตั้งขึ้นโดย มี 2 คำตอบให้เลือก ระหว่างไม่มีข้อบังคับและมีข้อบังคับ ถ้าคุณเลือกมีข้อบังคับก็ต้องระบุอีกว่า เป็นรูปแบบสำเร็จรูปหรือกำหนดเอง (การเลือกกำหนดเองต้องเตรียมเอกสารในรูปแบบของไฟล์ PDF) และการระบุรอบปีบัญชี จะเป็นวันที่เราทำการปิดงบ มีวิธีการกรอกเป็นเลข 4 หลัก โดยวันที่คือ 2 เลขแรก และ 2 เลขหลังเป็นเดือน (เช่น วันที่ 31 เดือนธันวาคม ให้กรอก 3112)
ในหน้าต่อมาระบบจะแสดงแบบ บอจ.5 เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท โดยคุณจะต้องทำการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง ก่อนที่จะคลิกหน้าถัดไป เพื่อเข้าสู่แบบ ก. สำหรับใครที่ต้องการเพิ่มกรรมการ สามารถเลือกผู้ที่ถือหุ้นได้ (กรรมการควรมีอย่างน้อย 1 คน) หากคลิกหน้าถัดไปจะเป็นการระบุอำนาจกรรมการ โดยในระบบมีการแสดงตัวอย่างให้คุณดูก่อน
การเลือกวัตถุประสงค์ (แบบ ว. สำเร็จรูป) ว่าธุรกิจของคุณเกี่ยวกับอะไร ถือว่าเป็นข้อมูลที่ควรกรอกตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ต้องแก้ไขการชำระค่าธรรมเนียมในภายหลัง โดยมีตั้งแต่ ว.1 – ว.5 หลังจากที่เราเลือกและคลิกหน้าถัดไป ในส่วนนี้คุณสามารถเพิ่มวัตถุประสงค์ของธุรกิจคุณเข้าไปได้ เพื่อเป็นการระบุให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
แบบ สสช.1 จะแสดงให้คุณได้เห็นรายละเอียดของการจดทะเบียนกับผู้ถือหุ้น ส่วนรายละเอียดของลูกจ้างและผู้รับเหมา สามารถทำการใส่ข้อมูลหรือไม่ต้องใส่ก็ได้ แต่ต้องระบุสินค้าและบริการ โดยให้คุณคลิกไปที่ ‘TSIC’ เพื่อค้นหารหัสธุรกิจของคุณ หากใส่รหัสเรียบร้อยแล้ว หน้าถัดไปเป็นผู้ลงนามหรือรายนามผู้เริ่มก่อการ/กรรมการ จะให้คุณเลือกกรรมการที่มีอำนาจในการลงชื่อ สามารถคลิกที่ช่องสี่เหลี่ยมเพื่อเลือกได้
ในส่วนของแบบเอกสารจะให้คุณแนบเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องส่งให้กับทางนายทะเบียน เพื่อทำการตรวจสอบ ซึ่งประกอบไปด้วย ตราประทับ (กรณีที่มี), แผนที่สำนักงานใหญ่ (ต้องแนบไฟล์) และเอกสารประกอบการจดทะเบียนสามารถมีหรือไม่มีก็ได้
ขั้นตอนสุดท้าย คือ ส่งคำขอให้ตรวจสอบ ในระบบจะแสดงให้คุณเห็นเอกสารตัวอย่างของการยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และจัดตั้งบริษัทพร้อมกัน โดยคุณต้องทำการตรวจสอบรายละเอียดก่อนที่จะกดส่ง หลังจากที่ทำการส่งเอกสารแล้วต้องใช้ระยะเวลาในการรอ เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการตอบกลับผ่านช่องทาง E- mail ให้เราได้ทราบ ว่าเอกสารผ่านการตรวจสอบหรือต้องแก้ไขเอกสาร
ถ้าเอกสารของคุณผ่านการตรวจสอบหรือได้รับการอนุมัติแล้ว ต้องลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ที่ถือหุ้นทุกคนจะต้องลงลายมือ (เข้าสู่ระบบตามปกติ > ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ > ลงลายมือชื่อ > ยืนยันการลงนาม) หลังจากที่ลงลายมือชื่อครบทุกคนแล้วจึงจะสามารถยื่นคำขอได้ ต่อไปก็จะเป็นการชำระค่าธรรมเนียม
จดทะเบียนบริษัทออนไลน์ มีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร
การดำเนินงานจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีความสะดวกรวดเร็ว และประหยัดเวลาได้มากกว่าการเดินทางไปจดทะเบียนด้วยตัวเองที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ทั้งนี้ก่อนที่คุณจะเลือกจดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์ ควรรู้ทั้งข้อดี-ข้อเสีย ของวิธีการนั้นๆ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- ข้อดี – การ จดทะเบียนบริษัทออนไลน์ เป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว ช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
- ข้อเสีย – ต้องดำเนินการด้วยตัวเองทั้งหมด โดยเฉพาะการเตรียมเอกสาร และใช้เวลารอการตอบกลับ E-mail ประมาณ 3-5 วัน
จดบริษัทออนไลน์ สรุป
จากเนื้อหาในข้างต้นจะเห็นได้ว่า วิธี จดทะเบียน บริษัท ออนไลน์ ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ดังนั้นถ้าธุรกิจของคุณเริ่มเติบโต มีรายได้มากขึ้น ผู้ประกอบการควรศึกษาขั้นตอนการจดทะเบียนให้ดี และเตรียมเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ยื่น เพื่อขอจดทะเบียนบริษัทให้พร้อม และนอกจากเรื่องการจดทะเบียนบริษัทแล้ว สำหรับใครที่เป็นผู้ประกอบการมือใหม่ อย่าละเลยที่จะจ้างสำนักงานบัญชีให้เป็นผู้ช่วยดูแลบัญชีและภาษีของบริษัท เพราะการมีนักบัญชีที่ดีก็เหมือนมีคู่คิดที่คอยให้คำแนะนำ คอยช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการประกอบธุรกิจ ดังนั้นถ้าหากคุณกำลังมองหาสำนักงานบัญชี ขอแนะนำ บริษัท นรินทร์ทอง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีและภาษี ด้วยประสบการณ์ที่ให้บริการมากกว่า 20 ปี โดยมีบริการให้คุณได้เลือกใช้อย่างหลากหลาย ทำให้ธุรกิจของคุณสามารถเติบโตและมีประสิทธิภาพในการก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็น
- การส่งภาษีอากร ทางเราสามารถยื่นภาษีให้ได้ โดยที่คุณไม่ต้องยุ่งยากกับการจัดเตรียมเอกสาร รวมไปถึงรับจัดทำรายงาน และให้คำปรึกษาทางด้านภาษี
- รับจดทะเบียนบริษัท เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทของคุณ โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการจดทะเบียน เพราะเราสามารถช่วยคุณได้
- งานทางด้านการเงิน จะเป็นการดำเนินเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยื่นแบบเงินเดือน และประกันสังคมของพนักงานที่ทำงานอยู่ภายในบริษัท
- ให้บริการรับทำบัญชี หากใครที่กำลังรู้สึกว่าการทำบัญชีนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมากมายภายในบริษัท ทางเราพร้อมที่จะดูแลคุณ
สำหรับใครที่ต้องการปรึกษาสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่…
Facebook : NarinthongOfficial
E-mail : narinthong.ac@gmail.com
Line : @Narinthong
Tel : 081-627-6872 , 02-404-2339