เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่วัยทำงาน แน่นอนว่าจะมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ภาระหน้าที่เยอะขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนั้นก็คือ “การเสียภาษี” โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หรือ “First Jobber” ในยุคนี้อาจจะไม่เข้าใจเกี่ยวกับภาษีมากนัก วันนี้เราจะเลยพามารู้จักกับ” ภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา “ กันว่า มันคืออะไร แล้วเราเข้าข่ายจะเสียภาษีหรือไม่ ต้องคำนวณอย่างไร ดิฉันเชื่อว่าหลังจากทุกคนอ่านบทความนี้จบ ทุกคนจะเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีมากยิ่งขึ้น และสามารถวางแผนจ่ายภาษีในอนาคตได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดได้มาก รวมทั้งสามารถบริหารจัดการตัวเองให้ชำระภาษีได้ตรงเวลาอีกด้วยค่ะ
เงินได้ คือ เงินต่างๆ ที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็น ผลตอบแทนจากการทำงาน เช่น เงินเดือน หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล เป็นต้น
ภาษี (Tax) คือ เงินตราหรือทรัพย์ที่ประชาชน หรือ ผู้ที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ต้องนำส่งให้กับรัฐ เพื่อนำเงินตราหรือทรัพย์ที่เก็บได้จากประชาชนมาใช้ในการบำรุงผลักดันและสร้างเศรษฐกิจในประเทศ
ภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา คือ
เป็นภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด หากยิ่งมีเงินได้มาก อัตราภาษีก็จะสูงขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 35% เลยทีเดียว ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด โดยหน่วยงานที่ดูแลจัดเก็บภาษี คือ กรมสรรพากร
แล้วใครบ้างหล่ะที่มีหน้าที่ต้องส่ง ภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา ?
ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา โดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
1) บุคคลธรรมดา
2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ต้องส่งยื่นอะไรบ้าง?
- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
- เอกสารแสดงรายได้ หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง เป็นเอกสารที่ระบุว่าปีนั้นมีรายได้รวมเท่าไหร่ มีการหักชำระกองทุน หรือเงินทุนสำรองต่างๆ
- รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี ได้แก่ ค่าเลี้ยงดูบิดา–มารดา หรือบุตร
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีเพื่อนำมาใช้ในการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน, เบี้ยประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, เอกสารช้อปดีมีคืน หรือค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการ
- เพิ่มเติม : การยื่นปกติทางบัญชีจะใช้ชื่อตามแบบ มีแบบแสดงรายได้
– ภงด.90 (ยื่นท้ายปี เฉพาะผู้มีรายได้อื่นๆ หรือ ทั้งเงินเดือนด้วยและรายได้อื่นๆด้วย)
– ภงด.91 (ยื่นท้ายปี เฉพาะคนมีรายได้เป็นเงินเดือน 40(1) )
– ภงด.94 (ยื่นกลางปี เฉพาะผู้มีรายได้ 40(5)-40(8) )
หมายเหตุ – ไม่นับภาษีแบบพิเศษที่มีกฎหมายเฉพาะ - สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินได้แต่ละประเภทได้ที่ ประเภทของเงินได้
ยื่นได้ที่ไหนและ ยื่นตอนไหนของปี
- สามารถยื่นได้ผ่านทางเว็ปไซต์ของกรมสรรพากรได้ที่ www.rd.go.th (หากใครที่ยังไม่เคยลงทะเบียนต้องลงทะเบียนยื่นภาษีก่อน)
- สำนักงานกรมสรรพากรพื้นที่สาขาที่สะดวกทุกแห่งทั่วประเทศ (แนะนำให้ยื่นสาขาในเขตบ้านตัวเอง เพราะถ้ายื่นข้ามเขตอาจเสียค่าดำเนินงานได้)
โดยปกติแล้วจะสามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี แต่ถ้าเงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้องยื่นแบบฯ ตอนกลางปี (สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของทุกปี)
แล้วเราต้องจ่ายภาษีเท่าไร คำนวณยังไงมาดู?
การคำนวณภาษีมี 3 ขั้นตอนสำคัญคือ
ขั้นตอนที่ 1 คำนวณหาจำนวนภาษีตาม วิธีที่ 1
เงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมกันตลอดปีภาษี xxxx (1)
หัก ค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด xxxx (2)
(1)-(2) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย xxxx (3)
หัก ค่าลดหย่อนต่าง ๆ (ไม่รวมค่าลดหย่อนเงินบริจาค) ตามที่กฎหมายกำหนด xxxx (4)
(3)-(4) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ xxxx (5)
หัก ค่าลดหย่อนเงินบริจาค ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด xxxx (6)
(5-6) เหลือเงินได้สุทธิ. xxxx (7)
นำเงินได้สุทธิตาม (7) ไปคำนวณภาษีตาม อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จำนวนภาษีตามการคำนวณภาษีวิธีที่ 1 xxxx (8)
ขั้นตอนที่ 2 ให้พิจารณาว่าจะต้องคำนวณภาษีตาม วิธีที่ 2 หรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไขที่จะต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 จึงคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 อีกวิธีหนึ่ง กรณีที่ต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 ได้แก่ กรณีที่เงินได้พึงประเมินทุกประเภทในปีภาษี แต่ไม่รวม เงินได้พึงประเมินตามประเภทที่ 1 มีจำนวนรวมกันตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 นี้ ให้คำนวณในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน (= เงินได้พึงประเมินทุกประเภทลบเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 คูณด้วย 0.005)
ขั้นที่ 3 สรุป จำนวนภาษีที่ต้องเสียภาษี กำหนดให้ (10) คือ จำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2
จำนวนภาษีเงินได้สิ้นปีที่ต้องเสีย เทียบ (8) และ (10) จำนวนที่สูงกว่า xxxx (11)
หัก ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้ว xx
ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่ชำระไว้แล้ว xx
ภาษีเงินได้ชำระล่วงหน้า xx
เครดิตภาษีเงินปันผล xxxx (12)
(11-12) เหลือ ภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย (หรือที่เสียไว้เกินขอคืนได้) xx
ตัวอย่างเช่น พนักงานคนนี้มีเงินเดือน 45,000 บาทต่อเดือน เป็นคนโสด และไม่มีลดหย่อนประเภทอื่น
เมื่อนำมาคิดตามรูปแบบอัตราก้าวหน้าจะต้องจ่ายภาษีทั้งปีอยู่ที่ 14,600 บาท
เท่ากับว่าจะต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อเดือนคือ 1216.666 บาท
เราสามารถนำอะไรไปลดหย่อนได้บ้าง?
การหักลดหย่อน หมายถึง สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ก่อนจะนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งค่าใช้จ่ายช่วยลดหย่อนภาษี ยกตัวอย่างเช่น
- ดอกเบี้ยเงินกู้ ซื้อที่อยู่อาศัย
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุน เพื่อการออม (SSF)
- เงินสมทบ กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- เงินบริจาค
- คู่สมรส
- เลี้ยงดูบุตร และการศึกษาบุตร
- เลี้ยงดูบิดามารดา
- เบี้ยประกันชีวิต
- เบี้ยประกันสุขภาพ
- เบี้ยประกันแบบบำนาญ
ถ้าส่งไม่ทันต้องทำยังไง?
หากเรายื่นส่งไม่ทันภายในเวลาที่กำหนด เราจะไม่สามารถยื่นแบบออนไลน์ได้ และต้องไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรเท่านั้น โดยต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไปด้วย ดังนี้
- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสํารอง เลี้ยงชีพ หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03) หรือ เอกสารยืนยันสิทธิ ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ (ใบ ล.ย. 04) ฯลฯ
- นอกจากจะเตรียมเอกสารให้เรียบร้อยแล้ว เราต้องเตรียมเงิน เพื่อจ่ายภาษีส่วนที่ค้าง รวมทั้งอาจต้องจ่ายค่าปรับอีกด้วย หากคุณยิ่งไปจ่ายช้าขึ้นเท่าไหร่ ค่าปรับก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
หากเราไม่ไปเสียภาษีหลังจากวันที่ 31 มีนาคม จะมีเกณฑ์ดังนี้
- ไม่เกิน 7 วัน ต้องเสียค่าปรับตามจริง ไม่เกิน 2,000 บาท
- เกิน 7 วัน ต้องเสียค่าปรับ ตามจริงไม่เกิน 2,000 บาท และมีดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน ของยอดภาษีที่ต้องจ่าย
เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ปวดหัวสำหรับใครหลายๆคน จะดีกว่าไหมหากมีคนที่คอยดูแล และให้คำปรึกษา
ใครมีข้อสงสัย ต้องการคำปรึกษา นรินทร์ทอง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่…
Facebook : NarinthongOfficial
E-mail : narinthong.ac@gmail.com
Line : @Narinthong
Tel : 081-627-6872 , 02-404-2339