เพื่อนๆ เคยเดินทางไปที่ไหนสักแห่งกันไหมคะถ้าเคยไม่ว่าจะเป็น รถประจำทาง รถสาธารณะ หรือแม้รถส่วนตัว เวลาที่เรามองไปนอกหน้าต่างก็คงจะหนีไม่พ้นกับ ป้ายโฆษณา ไม่ว่าจะบนทางด่วน ตามแยก บนตึกสูง หรือแม้แต่ในสถานีรถไฟฟ้า ก็จะเจอป้ายมากมายเต็มไปหมด แต่เพื่อนๆรู้กันไหมคะการที่เราจะทำป้ายออกมาซักป้ายนึงไม่ได้มีแค่ต้นทุนตัวป้าย กับ ค่าสถานที่เท่านั้นแต่ยังมี ภาษีป้าย ที่ผู้ที่เป็นเจ้าของต้องชำระอีกด้วยแล้วภาษีป้าย คืออะไร? ใครเป็นผู้เสีย ? มีวิธีการเสียอย่างไรเดี๋ยวเราไปรู้จักพร้อมๆกันค่ะ
ภาษีป้าย คืออะไร? ป้ายแบบไหนต้องเสียภาษี
ภาษีป้าย หรือ การเก็บภาษีอากรจากป้ายโฆษณา แล้วป้ายแบบไหนต้องเสียภาษีบ้างให้สังเกตง่ายๆเลย ป้ายไหนก็ตามที่แสดงเครื่องหมายการค้า เพื่อการโฆษณา หรือ หารายได้ ไม่ว่าจะเป็น โลโก้ ตัวอักษร ป้ายบนทางด่วน ป้ายข้างทาง ขนาดเล็ก หรือ ขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ป้ายที่ทำมาจากการแกะสลัก หรือวิธีอื่นๆ ก็ตามจะต้องเสียภาษี
โดยเจ้าของป้ายหรือคนนำไปติดจะต้องเป็นผู้ชำระภาษีป้าย นั้นเองค่ะ แต่สำหรับใน กรณีที่ไม่สามารถหาเจ้าของได้ ให้ดูว่าป้ายนั้นติดอยู่ที่ไหนบนที่ดิน อาคารของใครจะถือว่าเจ้าของสถานที่จะต้องผู้ชำระภาษีป้าย
ป้ายแบบไหนไม่ต้องชำระภาษี
ในทางกฎหมายจะมีป้ายบางประเภทที่ ไม่ต้องชำระภาษีป้าย โดยประกอบไปด้วย
- ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
- ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า
- ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
- ป้ายที่แสดงไว้ที่คน หรือสัตว์
- ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
- ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
- ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมาย
ว่าด้วยการ นั้น ๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ - ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
- ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
- ป้ายของวัด หรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
- ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
- ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
อัตราการเสียภาษีป้าย
ตามอัตราปี พ.ศ.2564 หรืออัตราภาษีป้ายล่าสุด ที่มีการออกไว้ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้ายไว้ดังนี้
อัตราภาษีในกรณีที่ป้ายเป็นอักษรไทย
- ป้ายที่สามารถเปลี่ยน ข้อความได้ จะต้องเสียภาษีในอัตราภาษี 10 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายทั่วไป จะต้องเสียอัตราภาษีในอัตราภาษี 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
อัตราภาษีในกรณีที่ป้ายเป็นอักษรไทย ที่มีการปนกับภาษาต่างประเทศ หรือ ปนกับรูป เครื่องหมายอื่นๆ
- ป้ายที่สามารถเปลี่ยน ข้อความได้ จะต้องเสียภาษีในอัตราภาษี 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายทั่วไป จะต้องเสียอัตราภาษีในอัตราภาษี 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
อัตราภาษีในกรณีที่ป้ายไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
- ป้ายที่สามารถเปลี่ยน ข้อความได้ จะต้องเสียภาษีในอัตราภาษี 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายทั่วไป จะต้องเสียอัตราภาษีในอัตราภาษี 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
วิธีการคำนวณภาษีป้าย
ให้เรามาคำนวณหาพื้นที่จริงของตัวป้ายก่อน กว้าง*ยาว/500 ตร.ซม = พื้นที่ที่ต้องเสียภาษีของตัวป้ายเรา หลังจากนั้นให้เราไปดูอัตราการเสียภาษีป้าย ป้ายของเราอยู่ในประเภทไหน แล้วนำไปเข้าสูตร
พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี*อัตราภาษีป้าย = ภาษีป้ายที่ต้องจ่าย
เช่น นายพัตเตอร์ได้ติดตั้งป้ายที่มีเฉพาะอักษรไทยเป็นป้ายที่ไม่สามารถเปลี่ยนข้อความได้ โดยมีความกว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร เมื่อนำมาเข้าสูตร 100 x 300 ซม./ 500 ตร.ซม = พื้นที่ที่ต้องเสียภาษี คือ 60 หลังจากให้เราดูอัตราภาษีสำหรับป้ายภาษาไทยจะอยู่ที่ 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร และนำมาเข้าสูตร 60*5 = นายพัตเตอร์จะมีภาษีป้ายที่ต้องชำระ 300 บาท นั้นเอง
ขั้นตอนการยื่นภาษีป้าย
ขั้นตอนที่ 1 ให้เราเริ่มจากการขออนุญาต ต้องเตรียมรูปภาพของป้าย หรือภาพสเกต ขนาดป้าย พร้อมที่ตั้งของป้าย โดยแจ้งที่ สำนักงานเขต เทศบาล หรือ อบต.
ขั้นตอนที่ 2 ให้เรายื่นแบบ ภ.ป.1 โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชน
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ทะเบียนการค้า
4. หนังสือรับรอง (กรณีนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน)
5. รูปถ่ายตัวป้าย พร้อมขนาดทั้ง กว้าง และ ยาว
6. ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
* แต่ในกรณีที่เราเคยยื่นภาษีป้ายแล้วก็อย่าลืมนำในเสร็จไปแสดงด้วยนะคะ *
ขั้นตอนที่ 3 การชำระภาษีป้าย ซึ่งสามารถทำได้ที่สำนักงานเขต หรือ ผ่านธนาคารกรุงไทย
– ในกรณีเป็นป้ายที่ติดตั้งใหม่ ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วัน
– ในกรณีเป็นป้ายที่ชำระภาษีต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี
– ในกรณีเป็นป้ายที่ชำระภาษีประจำปี และต้องการเปลี่ยนแปลงป้ายให้แจ้งภายใน 15 วัน
– ในกรณีมีการยกเลิกใช้ป้าย เนื่องจากเลิกกิจการให้แจ้งภายในเดือนธันวาคมของทุกปี
* ในกรณีที่เรามีภาษีป้ายมากกว่า 3,000 บาทสามารถแบ่งจ่ายได้ 3 งวด และ ในกรณีที่ป้ายของเรามีการคำนวณมาแล้วว่าเสียภาษีป้ายต่ำกว่า 200 บาท จะต้องเสียภาษีตามขั้นต่ำที่กฎหมายระบุไว้หรือ 200 บาท *
บทลงโทษในกรณีที่เราไม่ได้ยื่นตามเวลาที่กำหนด
มาถึงส่วนสุดท้ายกันแล้วกับบทลงโทษสำหรับภาษีป้ายใครไม่ทำตามกฏหมายก็ต้องมีบทลงโทษกันตามระเบียบ ทางที่ดีก็อย่าลืมยื่นให้ถูกต้องกันนะค่ะ
- ในกรณีไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับ 10% ของค่าภาษี
- แต่ถ้าเรามีการยื่นแบบแต่ไม่ชำระเงินค่าภาษี หลังจากที่ยื่นแบบภายใน 15 วัน จะต้องเสียค่าปรับ 2% ของค่าภาษี
- ถ้ายื่นภาษีไม่ตรงตามความเป็นจริง จะต้องเสียค่าภาษีที่ขาดไป และเสียค่าปรับอีก 10% ของค่าภาษี
เพราะการเติบโตในธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับใครที่สนใจจะจดทะเบียนบริษัท การยื่นภาษีอากร บริษัท นรินทร์ทอง จำกัด เราเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชี และ ภาษี รวมไปถึงการจดทะเบียนนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน เราให้บริการมากกว่า 20 ปี สำหรับ
ใครมีข้อสงสัย ต้องการคำปรึกษา นรินทร์ทอง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่…
Facebook : NarinthongOfficial
E-mail : narinthong.ac@gmail.com
Line : @Narinthong
Tel : 081-627-6872 , 02-404-2339